ในการทำรากเทียมอาจพบปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละขั้นตอนซึ่งอาจเกิดจากทันตแพทย์หรือการดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก หากเราเลือกรักษากับทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและดูแลรักษาสุขภาพในช่องปากให้ดี จะช่วยให้ปัญหาเหล่านี้ลดลงได้รากเทียมไม่ติดกับกระดูก เกิดขึ้นได้จากการเจาะที่หลวมเกินไป ทำให้รากเทียมไม่มีความเสถียรโยกไปมาได้ กระดูกจึงไม่มาเกาะหรือเกิดจากภาวะกระดูกพรุนในผู้ป่วย เป็นต้น
เหงือกร่น เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการละลายตัวของกระดูกหลังจากฝังรากเทียมไปอาจจะเป็นมากหรือน้อยก็ได้ ถ้าเป็นมากผู้ป่วยอาจต้องรับการผ่าตัดแก้ไข
ฝังไม่ตรงตำแหน่ง โดยมากเกิดจากการที่กระดูกรองรับมีน้อยเกินไป ทำให้ต้องไปฝังในตำแหน่งอื่นที่มีกระดูก ปัญหานี้ แก้ไขโดยการทำการผ่าตัดเสริมกระดูกให้เรียบร้อยก่อนที่จะฝังรากเทียม หรือบางครั้งถ้าตำแหน่งไม่ผิดพลาดมากจนเกินไป อาจแก้ไขโดยการออกแบบฟันปลอมให้รับกับตำแหน่งที่ฝังก็ได้
สกรูหัก มักเกิดจากการที่ฝังรากเทียมไม่ตรงตำแหน่ง ทำให้แรงที่ตกลงมาไม่ได้ผ่านจุดศูนย์กลางรากเทียม ทำให้สกรูที่ ยึดหัก หรืออาจเกิดจากทันตแพทย์ใส่ส่วนตัวฟันไม่แนบสนิทกับรากเทียมหรืออาจเกิดจาก การใช้รากเทียมจำนวนน้อยๆ ไปรับน้ำหนักฟันปลอมจำนวนหลายๆ ซี่
รากหัก พบได้น้อยมากโดยอาจเกิดจากการฝังรากเทียมไม่ตรงตำแหน่ง ใช้รากเทียมขนาดเล็กกับฟันขนาดใหญ่ หรือ อาจเกิดจากรอยร้าวในตัวรากเทียมเอง
รากหมุน ลักษณะของรากเทียมจะเป็นเหมือนสกรูขันเข้าไปในกระดูก เมื่อมีแรงมากระแทกทุกวันๆบางครั้งก็จะเกิดการคลายตัวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรากเทียมที่มีขนาดเล็ก แต่ในปัจจุบันมีการใช้รากเทียมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นปัญหาเหล่านี้ จึงน้อยลงอย่างมาก
โดยปกติแล้วช่วงระยะเวลา 2 ปีแรกของการทำรากเทียม เป็นช่วงที่มีอัตราเสี่ยงต่อการล้มเหลวสูงที่สุด คือ กว่า90 % ของรากเทียมที่มีปัญหาจะเกิดใน 2 ปีแรก ดังนั้น ถ้าหากฝังรากเทียมไปแล้วเกินกว่า 2 ปี ผู้ป่วยก็สามารถทำใจได้ว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาความสะอาดสุขภาพของช่องปากด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก dentistry.kku.ac.th